Search

สนุกกับร้านเช่าดีวีดีและการ์ตูนในญี่ปุ่น - ผู้จัดการออนไลน์

telsaroadster.blogspot.com

ภาพจาก https://www.ccc.co.jp/news/2014/20140731_000822.html
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลังเลิกงานกลับถึงบ้านแล้ว เพื่อน ๆ พักผ่อนกันด้วยวิธีไหนบ้างคะ สำหรับฉันแล้วตอนที่อยู่ญี่ปุ่นชอบแวะร้านเช่าดีวีดีและการ์ตูนแถวสถานีรถไฟใกล้บ้าน เข้าร้านทีไรก็รู้สึกเหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในอีกโลกหนึ่งทุกที สัปดาห์นี้จึงขอเล่าเรื่องสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นเล็กน้อยพอหอมปากหอมคอก็แล้วกันนะคะ

ร้านดีวีดีแถวบ้านมีอย่างน้อยสามเจ้าใหญ่ ๆ ให้เช่าทั้งดีวีดีและหนังสือการ์ตูนจำนวนมาก เวลาฉันเดินเข้าร้านแบบนี้แล้วรู้สึกดี๊ด๊าจนแทบลืมความเหนื่อยจากการทำงานไปหมดสิ้น อาจเพราะมีความเพลิดเพลินจำนวนมากรออยู่ ทั้งหนังฮอลลีวูด หนังญี่ปุ่น และแอนิเมชันแทบทุกเรื่องที่อยากดู อีกทั้งยังมีสารคดี ซีรีส์ของฝรั่ง ญี่ปุ่น และเกาหลีมากมาย และหนังสือการ์ตูนอีกสารพัด

ที่ผ่านมาฉันชอบดูหนังดูละครและอ่านการ์ตูนอยู่แล้ว ยิ่งเป็นวงการบันเทิงของญี่ปุ่นที่ชอบมานาน อีกทั้งมีหนังและซีรีส์หลายเรื่องที่อยากดูมานานแล้วแต่ตอนอยู่ไทยไม่มีโอกาส ยิ่งทำให้รู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษ ชวนให้ลัลล้าจนอยากจะเต้นไปรอบ ๆ ร้าน

ภาพจาก https://page.auctions.yahoo.co.jp/jp/auction/v616636374
เวลาหาหนังหรือซีรีส์เรื่องไหนไม่เจอก็สามารถไปสืบค้นจากเครื่องได้ หรือไม่ก็ถามจากพนักงาน เคยถามหาซีรีส์ญี่ปุ่นชื่อ “มินามิคุง โนะ โคยบิโตะ” (คนรักของมินามิ) จากพนักงานสาว พอเธอได้ยินชื่อเรื่องก็ยิ้มตอบกลับมาทันที แล้วบอกฉันอย่างกระตือรือร้น “ทางนี้ค่ะ”

เดาว่าเธออาจจะชอบเรื่องนี้เหมือนกันก็ได้ถึงดูอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ฉันรู้สึกทึ่งที่พนักงานจำได้ว่าแม่นว่าหนังเรื่องอะไรอยู่ตรงไหน คงจะต้องชอบหนังชอบซีรีส์มาก และทำการบ้านมาดีด้วย จึงทำงานได้ว่องไว

ถ้าเป็นหนังฮอลลีวูดที่ฉายในญี่ปุ่น หลายเรื่องจะถูกตั้งชื่อใหม่ ดังนั้นเวลาจะไปเช่าหนังฮอลลีวูดในญี่ปุ่นมาดู บางทีต้องไปทำการบ้านมาก่อนว่าในญี่ปุ่นเรียกหนังเรื่องนี้ว่าอะไร เพราะหลายเรื่องทีเดียวที่ถูกแปลชื่อเรื่องไปเป็นภาษาญี่ปุ่น หรือตั้งชื่อใหม่ไปกันคนละทางกับชื่อต้นฉบับ ถ้าค้นหาด้วยชื่อต้นฉบับภาษาอังกฤษอาจหาไม่เจอ

สมมติถ้าอยากเช่าหนังเรื่อง “Gone with the Wind” ในญี่ปุ่นมาดู ต้องรู้ก่อนว่าคนญี่ปุ่นเรียกหนังเรื่องนี้ว่า “คาเสะ โต๊ะ โทโหมะ นิ ซาริหนุ” (風と共に去りぬ) ซึ่งแปลตรงตัวมาจากชื่อต้นฉบับ ขืนอยู่ ๆ ไปถามพนักงานว่ามี “Gone with the Wind” ไหม พนักงานบางคนอาจนึกไม่ออกว่าเรื่องอะไร

ภาพจาก https://www.amazon.co.jp/
หรือ “Saving Private Ryan” ญี่ปุ่นเรียกเหลือแค่ “Private Ryan” ส่วน “Notting Hill” ญี่ปุ่นเรียก “Notting Hill โนะ โคยบิโตะ” (คนรักใน Notting Hill)

ว่าแต่ฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าบ้านเราคุ้นหูกับชื่อหนังบางเรื่องเป็นภาษาไทยมากกว่าหรือเปล่านะคะ ยิ่งสมัยก่อนมักเรียกชื่อหนังฮอลลีวูดกันเป็นภาษาไทย ไม่ได้ใช้ทับศัพท์ชื่อภาษาอังกฤษเยอะขึ้นแบบสมัยนี้ อย่างเรื่อง “Gone with the Wind” คนไทยอาจจะรู้จักในชื่อ “วิมานลอย” มากกว่าก็ได้ แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ฉันรู้สึกว่าคนไทยจำนวนมากที่ชอบดูหนังฮอลลีวูดโดยเฉพาะแบบมีซับไตเติล มักจะทราบชื่อต้นฉบับของหนังฮอลลีวูดเรื่องนั้น ๆ ด้วย หรืออาจจะคุ้นกับชื่อต้นฉบับมากกว่าชื่อแปลไทยเสียอีก

มีหนังฮอลลีวูดอยู่เรื่องหนึ่งที่ฉันดูตอนอยู่ญี่ปุ่น ชื่อเรื่องว่า “Black & White” ตอนนั้นก็สงสัยว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงชื่อเชยระเบิดขนาดนี้ ตอนหลังมาทราบว่าจริง ๆ แล้วชื่อของหนังเรื่องนี้คือ “This Means War” ส่วนชื่อ “Black & White” ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น มันก็ตลกดีตรงที่ถ้าจะตั้งชื่อหนังให้ใหม่ก็น่าจะตั้งเป็นภาษาญี่ปุ่นให้คนญี่ปุ่นเข้าใจง่ายไปเลย แต่กลับตั้งใหม่เป็นภาษาอังกฤษทำไมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ภาพจาก https://movies.yahoo.co.jp/movie/341640/
สำหรับหนังหรือซีรี่ส์ญี่ปุ่นนั้นมีจำนวนมากทีเดียวที่สร้างมาจากการ์ตูน ปัจจุบันนิยมเอาการ์ตูนผู้หญิงดัง ๆ แทบทุกเรื่องมาทำเป็นหนังหรือละคร เข้าใจว่าน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายต่อการสร้างรายได้เพราะค่อนข้างมั่นใจได้ว่าจะมีคนอยากดูเยอะ ส่วนดารานำแสดงก็วนไปวนมาซ้ำ ๆ กันอยู่หลายเรื่อง ดาราหญิงบางคนได้รับความนิยมมากจนได้เล่นเป็นนางเอกของการ์ตูนผู้หญิงแทบทุกเรื่องเลยทีเดียว ดูไปก็ตลกดีที่นางเอกของแต่ละเรื่องหน้าตาเหมือนกันหมดเลย

พูดถึงเสน่ห์ของการ์ตูนก็คงไม่มีประเทศไหนสู้ญี่ปุ่นได้นะคะ อีกทั้งความหลากหลายของเนื้อหาการ์ตูนญี่ปุ่นที่เล็งกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายต่างกัน ก็ทำให้คนทุกวัยตั้งแต่วัยเด็กไปจนวัยชราสามารถเสพความบันเทิงจากการ์ตูนได้ อย่างคุณแม่สามีฉันก็ซื้อนิตยสารการ์ตูนรายปักษ์อ่านอยู่เสมอ เวลาไปเดินดูการ์ตูนให้เช่า ฉันก็มักเห็นมีแต่ลูกค้าผู้ใหญ่ที่ยืนเลือกว่าจะเช่าเล่มไหนดี นาน ๆ ทีจึงจะเห็นเด็กวัยเรียนสักครั้งหนึ่ง

ด้วยความที่การ์ตูนหลายเรื่องเอามาทำเป็นหนังหรือละคร ทางร้านเช่าก็เลยจัดโซนการ์ตูนเรื่องที่ถูกสร้างเป็นหนัง ละคร หรือแอนิเมชันแยกไว้ ซึ่งแน่นอนว่าคนก็จะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ก็จะมีโซนหนังสือการ์ตูนออกใหม่ที่ต้องคอยเล่นเก้าอี้ดนตรีแย่งกัน เพราะใคร ๆ ก็อยากอ่านก่อน บางเรื่องฉันก็ไม่รู้จัก แต่พอได้เปิดดูแล้วสนใจก็หยิบมา ทำให้ได้เจอการ์ตูนดี ๆ ก็หลายเรื่อง

มุมหนังสือการ์ตูนให้เช่า ภาพจาก https://cospahack.com/comic/comic_rental
จะว่าไปแล้ววงการบันเทิงของญี่ปุ่นก็ช่างคิดตรงที่มีการเอา “เรื่อง” (story) หนึ่ง ๆ มาแตกแขนงทำเป็นรูปแบบความบันเทิงได้หลายอย่าง เช่น เอาการ์ตูนดังมาทำเป็นนิยาย ละครเวที แอนิเมชัน เกม ละคร หนัง และในทางกลับกันก็เอาเกมมาทำเป็นการ์ตูน ละครเวที แอนิเมชัน เรียกว่าเอาไปสร้างหรือต่อยอดทำอะไรให้ขายได้ก็ทำหมด ทำให้ผู้ชมเสพความบันเทิงได้หลายแนว

กระทั่งละครโทรทัศน์หรือหนังบางเรื่องก็เอามาทำเป็นนิยายอีกทอดหนึ่ง สวนทางกับรูปแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมาซึ่งนิยมเอานิยายมาสร้างละครหรือหนัง แต่กระนั้นก็ขายได้และน่าจะขายดีพอสมควรทีเดียว รูปแบบการถ่ายทอดความบันเทิงลักษณะนี้จึงมีให้เห็นมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีสินค้าอีกสารพัดชนิดที่แตกยอดออกมาจากความบันเทิงเหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสมุดรวมภาพ เครื่องเขียน ของกระจุกกระจิก หรือกระทั่งอีเวนท์ และอื่น ๆ อีกที่ขายได้และขายดีโดยเฉพาะกับแฟนพันธุ์แท้ทั้งหลาย ธุรกิจ “บันเทิง” ของญี่ปุ่นจึงนับได้ว่ามีความคึกคักและสีสันอย่างยิ่ง

“ตราบวันฟ้าใส” ตัวอย่างการ์ตูนที่นำมาทำเป็นภาพยนตร์ ภาพจาก http://www.cinema-frontline.com/
บางทีร้านเช่าดีวีดีและการ์ตูนก็เอาดีวีดีหรือการ์ตูนที่โละแล้วจากการเช่ามาขายต่อเป็นชุดในราคาถูก ถึงแม้จะผ่านมือลูกค้ามาจำนวนมากแล้วแต่สภาพก็ยังดีอย่างน่าแปลกใจ โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนเก่าซึ่งฉันแทบไม่เคยเจอแบบยับ ๆ หรือบวมน้ำเลย สภาพปกและกระดาษหน้าหนังสือก็ไม่มีรอยพับด้วย คงเพราะคนญี่ปุ่นไม่ค่อยจะพับปกหนังสือตลบไปด้านหลังเพื่อให้ถือมือเดียวได้เวลาอ่าน และไม่พับมุมหนังสือเพื่อคั่นหน้าหนังสือไว้ ค่อนข้างจะถนอมหนังสือกันโดยไม่ตั้งใจ ทำให้หนังสือส่วนใหญ่สภาพดี ซื้อหนังสือเก่าได้อย่างสบายใจ

บริการให้เช่าดีวีดีและหนังสือการ์ตูนเดี๋ยวนี้แข่งกันมากขึ้น บางร้านจึงมีบริการส่งดีวีดีหรือการ์ตูนไปให้ถึงบ้านด้วย โดยเลือกเรื่องที่ต้องการผ่านเว็บไซต์ วิธีคืนก็สะดวกง่ายดาย เช่น หย่อนตู้ไปรษณีย์หรือโทรให้มารับคืน แล้วแต่เงื่อนไขของทางร้าน (แต่ถ้าเช่าจากที่ร้านโดยตรงต้องไปคืนที่ตู้คืนของร้านโดยเฉพาะ) อีกทั้งยังมีบริษัทให้บริการเช่าหนังออนไลน์และการ์ตูนอีบุ๊คอีกมาก จึงสามารถรับชมหรืออ่านจากบ้านผ่านคอมพิวเตอร์ แทบเบล็ต หรือมือถือได้เลย

แล้วเพื่อนผู้อ่านล่ะคะพักผ่อนกันอย่างไรบ้างหลังเลิกงานกลับบ้าน ถ้ามีโอกาสก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.

Let's block ads! (Why?)




August 30, 2020 at 08:22AM
https://ift.tt/3bdxXav

สนุกกับร้านเช่าดีวีดีและการ์ตูนในญี่ปุ่น - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/374d13T


Bagikan Berita Ini

0 Response to "สนุกกับร้านเช่าดีวีดีและการ์ตูนในญี่ปุ่น - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.